ปัญหา “เบี้ยหัวแตก” สำหรับการสร้างบ้าน ตอนที่ 2

ยังมีวิธีไหนที่จะช่วยป้องกัน ปัญหา “เบี้ยหัวแตก” ได้อีกบ้าง

หลังจาก บทความตอนที่แล้ว ได้ระบุสาเหตุของการเกิดปัญหาไปแล้ว บทนี้จะขอนำเสนอเพื่อเติมว่าเราควรทำอย่างไรกันดี มาเริ่มกันเลยครับ

1. ต้องกำหนดสเปคทุกอย่างให้สมบูรณ์ที่สุดในรายการประกอบแบบ (สำหรับ เพื่อนๆ ที่ไม่รู้จักรายการประกอบแบบว่าคืออะไร ขออธิบายสั้นๆ ว่าคือ รายการที่กำหนดรายละเอียดสเปคของที่ใช้ทั้งหมดในบ้านเลยครับ) เราต้องหารายการวัสดุที่เราต้องการให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เดี๋ยวผมจะมารีวิวให้ที่ละรายการที่น่าสนใจ (บางรายการเพื่อนๆ อาจไม่ค่อยได้ยินก็เป็นได้ครับ)

2. ถ้าต้องการต่อเติมอะไรก็แล้วแต่ที่มีเกินจากแบบบ้านที่เลือกมา ให้จัดการให้ทางบริษัทฯ ออกแบบให้เรียบร้อยก่อนทำสัญญาเลยนะครับ เพราะว่ามันเกี่ยวโยงไปถึงการเตรียมการตอกเข็ม และทำคานคอดิน เผื่อไว้ก่อน (แม้ว่ายังไม่ก่อสร้าง) เพราะว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การทำฐานรากรองรับไว้แม้ว่าจะยังไม่พร้อมที่จะต่อเติมวันนี้ (แต่จริงๆ แนะนำให้กลั้นใจทำงานโครงสร้างให้เสร็จไปในคราวเดียว ปัญหาด้วยการทรุด และแตกร้าวจะไม่มีครับ เพราะใช้โครงสร้างเดียวกัน ก็จะทรุดเท่าๆ กัน เลยไม่แตกร้าว)

3. กรณีอยากสร้างบ้าน 3 ชั้น เพื่อให้ได้พื้นที่ใช้สอยมากขึ้นในอนาคตเวลามีลูกหลายๆ คน ก็อาจจะให้ออกแบบโครงสร้าง ฐานราก เสาเข็ม รอไว้ก็ได้ครับ แต่อาจสร้างแค่สองชั้นไปก่อน แล้วค่อยต่อเติมทีหลัง แต่ก็ไม่แนะนำครับ ถ้างบประมาณพอลุยทีเดียวดีกว่า ไม่วุ่นทีหลัง

4. ถ้าต้องการทำรั้วบ้านด้วย แนะนำให้ออกแบบไปพร้อมกันเลยครับ ปกติทางบริษัทฯ มักบอกเราว่าเอาไว้บ้านเสร็จค่อยมาจ้างทำรั้วอีกทีก็ได้ หรือเราอาจอยากประหยัดแล้วกะว่าจะไปจ้างผู้รับเหมาภายนอกมาทำทีหลัง ผมบอกได้เลยว่าอย่าเลยครับ มันไม่คุ้มกันเลย เพราะว่าการทำรั้วหลังจากบ้านเสร็จ ถ้าเป็นกรณีผู้รับเหมาภายนอก ทางบริษัทฯ จะไม่รับผิดชอบความเสียหายที่จะเกิดขึ้นภายหลัง เพราะจ้างภายนอกมาทำให้เกิดผลกระทบกับงานที่เค้าทำไปแล้ว
ส่วนถ้าจะมาจ้างเค้าทีหลัง ผลที่เกิดคือ ราคาจะแพงกว่าการตีราคาตอนแรกก่อนสร้างบ้านครับ เพราะว่า เค้าจะมองว่างานมีราคาน้อยลง แล้วเล่นตัวครับ ดังนั้นให้ตีราคารั้วรวมกับบ้านไปเลย ก่อนที่จะทำสัญญา จะได้ต่อราคาทีเดียว จำนวนเงินมันดูหลายล้าน เค้ายอมลดราคาเยอะกว่าแน่นอนครับ

5. กรณีห้องน้ำแสนรัก (ซึ่งสาวๆ รู้สึกว่าสำคัญที่สุดในบ้านทีเดียว) ขอแนะนำให้ไปปรึกษา บุญถาวร หรือ Homepro เค้าจะมี มัณฑนากร หรือ สถาปนิก ที่มีความชำนาญเรื่องการออกแบบห้องน้ำครับ (ตอนแรกผมก็ไม่เชื่อว่า ห้องน้ำมันจะอะไรกันนักหนา) อยากบอกว่าเค้าเก่งมากครับ สถาปนิก ธรรมดา สู้ไม่ได้นะ เพราะเค้ารู้จัก วัสดุในห้องน้ำเป็นอย่างดีเลยครับ กระเบื้องอะไร คุณสมบัติยังไง
และจะทำภาพ 3D ให้เราดูด้วยครับ (แต่อาจต้องมีมัดจำ ซึ่งจะนำไปหักลดตอนซื้อของได้) ไว้พรุ่งนี้จะสแกน ภาพตัวอย่าง 3D มาให้ดูครับ

6. ห้องครัวก็ด้วยครับ ผมใช้บริการบุญถาวร เค้าบริการออกแบบ 3D ให้เลย และจัดตู้ พร้อมอุปกรณ์ประกอบให้ครบเลยครับ แล้วจะสแกนภาพที่เค้าออกแบบให้ดูพรุ่งนี้เช่นกัน เสริมนิดครับ บุญถาวรจะมีครัวสำเร็จ รู้สึกจะเรียกว่า smart Kitchen ลองดูใน FB ได้ครับ สวยและถูกครับ

7. ส่วนห้องอื่นๆ ควรให้ มัณฑนากร หรือ สถาปนิก ออกแบบให้ครับ จะให้ดีออกแบบ interior ไปด้วยเลยครับ ว่าตู้ โต๊ะ เตียง โซฟา วางแบบไหน ยังไง (ไม่ได้เว่อร์นะ ไม่ได้ไฮโซ ด้วย แต่เราควรทำครับ) เพราะว่าจะช่วยให้เราประหยัดเงินได้เยอะกว่าค่าออกแบบอีกครับ ทำไมอะหรอ จะอธิบายให้ฟังในบทความถัดไปครับ พร้อมตัวอย่างการออกแบบจากบ้านผมเอง “การออกแบบ 3D ทั้งครัว และห้องน้ำ” มาเป็นไอเดียให้ครับ

Message us
error: Content is protected !!