ตรวจรับบ้าน ก่อนโอน ด้วยตัวเอง (Pantip เวอร์ชั่น)

ตรวจรับบ้าน ก่อนโอน ด้วยตัวเอง ทำเองได้ ไม่จ้างใคร

เทคนิค ตรวจรับบ้าน ก่อนโอน ด้วยตัวเอง ทำเองได้ ไม่จ้างใคร จากประสบการณ์หลายพันหลัง ของ Home Check Up พร้อมแจก Excel Check List เอาไปตรวจเองได้

บ้านเป็นทรัพย์สินราคาแพง ที่เรียกได้ว่า ซื้อแล้วต้องอยู่กันไปอีกนานหลายสิบปี ดังนั้นการตรวจรับบ้านก่อนโอน จึงมีความสำคัญ เพราะเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนการเซ็นรับมอบบ้าน ที่ต้องให้ความสำคัญ และต้องมีความละเอียดในการตรวจสอบอยู่มากที่เดียว

หลังจากการรับมอบบ้านไปแล้ว ย่อมแสดงถึง การยอมรับสภาพบ้าน ว่า "ปกติดี พร้อมอยู่อาศัย" ซึ่งเมื่อมีการแก้ไขงานหลังจากรับมอบบ้านแล้วนั้น ก็จะใช้เวลายาวนานขึ้นในการรอช่างมาแก้ไขงาน

ทั้งนี้ ถ้าเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีชื่อเสียง ก็สบายใจได้ว่าจะมาแก้ไขให้เราในช่วงรับประกับผลงาน 1 ปี อย่างแน่นอน แต่ถ้าเป็นโครงการบ้านที่สร้างด้วย ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ก็อาจจะไม่มีระบบซ่อมหลังการขายที่ดีพอก็เป็นได้ อาจทำให้ลูกค้าต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมในอนาคตได้

ขั้นตอนการตรวจรับบ้านก่อนโอน อย่างง่าย

จากประสบการณ์การช่วยลูกค้า ตรวจรับบ้านก่อนโอน มาหลายพันหลัง ทาง Home Check Up พอสรุปการตรวจได้ ดังนี้

1. พื้นลามิเนต

วัสดุพื้นลามิเนตมีส่วนผสมของเศษไม้อยู่ด้านใน และปิดผิวด้วย Laminate ที่มีความมันวาว ทำให้ทนต่อการสัมผัสน้ำได้ ทั้งนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า ในขั้นตอนการเตรียมพื้นก่อนปูนั้น จะต้องปรับพื้นให้เรียบก่อน แล้วปูด้วยโฟมรองพื้นก่อนปูด้วยพื้นลามิเนต

  • ให้เดินไปมาให้ทั่วๆ ห้อง โดยสังเกตว่ามีบริเวณใดเป็นหลุม หรือยวบ ซึ่งเกิดจากการปรับพื้นไม่เรียบนั่นเอง ข้อแนะนำ "ให้เดินด้วยเท้าเปล่า และเดินแบบลากเท้า จะทำให้สัมผัสถึงความเรียบ ได้ระดับของพื้นที่ปูใต้ลามิเนตได้" และให้แก้ไขบริเวณที่รู้สึกว่าเป็นหลุม ไม่เรียบ โดยหลุมดังกล่าวต้องมีขนาดลึกพอควร ถ้าตื้นๆ ก็พอยอมรับได้ครับ
  • ถ้าไม่แน่ใจว่าได้ระนาบไหมให้นำลูกแก้ว โยนที่พื้น ทั่วๆ บริเวณ เพื่อดูว่าพื้นได้ระนาบไหม โดยถ้าได้ระนาบลูกแก้วจะกระจายตัวไปทั่วๆ พื้นห้อง ไม่กระจุกตัวเป็นแอ่ง
  • ตรวจสอบพื้นลามิเนต ดูว่ามีรอยบิ่น แตก ที่ไม้ลามิเนตไหม โดยสามารถให้โครงการเปลี่ยนได้ครับ
  • ตรวจสอบพื้นลามิเนต มีอาการโก่ง งอ ขึ้นสัน ไหม โดยให้นำไม้บรรทัด มาวางที่รอยต่อของพื้นลามิเนต ถ้าขึ้นสันจะไม่แนบกับพื้น
  • ตรวจสอบรอยต่อการปูแผ่นลามิเนต แนบสนิทกันดีไหม และให้ลองเอามือลูบดู จะต้องเสมอกัน ไม่กระเดิด
  • ตรวจสอบการยวบของพื้นลามิเนตที่ริมห้อง ด้วยการเหยียบ ที่ตำแหน่งนี้จะเจอบ่อยที่สุด เนื่องจากสังเกตุง่ายว่ามีการยวบ เพราะเป็นตำแหน่งขอบของแผ่นลามิเนต

2. บัวเชิงผนัง

  • ตรวจสอบดูการติดตั้งบัวเชิงผนัง ว่าติดตั้งได้แนบกับผนังไหม ติดแน่นดีไหม ทั้งนี้ถ้าไม่สามารถติดตั้งบัวให้แนบกับผนังได้ ก็อาจมีสาเหตุมาจากผนังไม่เรียบ ไม่ได้ระนาบ หรือ อาจเป็นจากบัวไม้โก่ง (กรณีที่บัวเป็นไม้จริง ซึ่งตามปกติ หมู่บ้านจัดสรรมักไม่ใช้กันแล้ว โดยมักเป็นบัว PVC หรือ ไม้เฌอร่า)
  • กรณีมีการทาสี ก็ให้ดูความเรียบเนียนของสี ว่าสวยงามดีไหม มีสีหยดไหม ซึ่งแก้ไขได้ไม่ยาก
  • ตรวจสอบการเข้ามุมเนียนบัวเชิงผนัง ว่าเข้ามุมได้แนบสนิท กันดีไหม โดยปกติจะเป็นมุม 45 องศา
  • กรณีเป็นบัวสำเร็จรูป ให้ลูบดูบริเวณที่มุม บางครั้งจะมีความคมมากเนื่องจากเข้ามุมแบบ 45 องศา  โดยสามารถแก้ไขด้วยการให้ทางโครงการนำกระดาษทรายมาลูบ เพื่อลบคมครับ

3. ผนังห้อง

  • กรณีติด wall paper ก็ให้ดูว่ามีรอยฉีกขาด, รอยต่อแผ่น wall paper สนิทไหม, wall paper ติดแน่นดี หรือว่ามีการหลุดร่อน, ตรวจสอบคราบเลอะ และดูการเข้ามุมผนังว่าเรียบเนียนไหม
  • กรณี wall paper ฉีกขาด สามารถเปลี่ยนได้ โดยจะเปลี่ยนทั้งแผ่นเลย ทั้งนี้ถ้า wall paper ดังกล่าวติดตั้งมานานแล้ว การเปลี่ยนอาจต้องเปลี่ยนแผ่นข้างๆ กันด้วย เพื่อป้องกันสีของ wall paper ใหม่ และเก่า ที่จะต่างกัน จากระยะเวลาที่ติดตั้งมานาน สีจะซีดจางลง
  • กรณีเป็นการทาสี ให้ดูว่าทาสีเรียบเนียนไหม การทาสีควรทาให้ครบ  2 – 3 รอบ โดยทิ้งระยะเวลาให้สีรอบก่อนหน้าแห้งสนิทก่อนจึงสามารถทารอบต่อไป
  • ตรวจสอบผนังว่าเรียบเนียนไหม บางครั้งปูดนูน เพราะฉาบไม่เรียบ มีขี้ปูนติดตามผนัง หรือก่อผนังไม่ได้ระนาบ

4. ประตูห้อง

  • ประตูห้อง ปกติเป็นไม้สำเร็จรูป ให้ลอง เปิดปิด ไปมา ต้องไม่ติดขัด และ ถ้าเปิดค้างต้องไม่ปิดเอง (ถ้าไม่มีโช๊คที่ด้านบนประตูมาช่วยปิดประตู)
  • ตรวจสอบการทาสีเรียบเนียนไหม
  • เอากระจกส่องที่สันบานประตูด้านบนต้องทาสี เพื่อความสวยงาม
  • กรณีเป็นประตูห้องน้ำ ควรทาสีสันบานประตูทั้งด้านบน และด้านล่าง เพื่อป้องกันประตูบวมจากความชื้นในห้องน้ำ
  • สำหรับลูกบิดประตู ให้ลองหมุนไปมา และตรวจสอบการติดตั้งว่าแน่นดีไหม
  • ให้ลองล๊อคกลอนดูว่า สอดเข้ารู้ได้เรียบร้อยดีไหม

5. ประตูเลื่อน หน้าต่าง อลูมิเนียม

  • ลองเปิดปิดดูว่าติดขัดไหม
  • ดูรอยต่อต่างๆ ว่า อัดซิลิโคนยาแนวระเรียบร้อยดีไหม
  • ตรวจสอบช่องระบายน้ำจาก frame อลูมิเนียม และตรวจสอบน้ำขังในรางเลื่อน

6. การตรวจรับห้องครัว

ตรวจรับบ้าน ก่อนโอน EP2 การตรวจรับ ห้องครัว - สำหรับโครงการบ้านที่มีราคาแพง ทางโครงการจะติดตั้งชุดครัว ตู้ built-in มาให้ลูกค้าด้วยเลย ส่วนในโครงการที่มีราคาปกติ อาจไม่มีชุดครัว ตู้ต่างๆ ติดตั้งมาให้ โดยอาจมีแค่การทิ้งท่อระบายน้ำเพื่อใช้ต่ออ่างล้างจานเท่านั้น

  1. ชุดตู้ครัว ประกอบด้วยบานตู้ และลิ้นชัก มีเทคนิคการตรวจดังนี้
    • บานตู้ และลิ้นชัก จะต้องเปิดปิด ได้สะดวก และแน่นหนาแข็งแรง
    • ให้สังเกตแนวขอบตู้ และลิ้นชัก ต้องได้แนวกันทั้งหมด หรือส่วนใหญ่ และช่องไฟ ควรมีระยะห่างเท่าๆ กัน
    • ควรมีวิธีป้องกันเสียงดังจากการกระแทกเวลาปิดทั้งบานตู้ และลิ้นชัก โดยมีแนวทาง 2 แบบ คือ
      • ติดตั้งบานพับแบบมี soft closing ส่วนลิ้นชักก็มีระบบล้อที่มี soft closing เช่นเดียวกัน
      • ติดตั้งยางกันกระแทก แทนก็ได้ ขึ้นกับเจ้าของผลิตภัณฑ์
    • ดูเรื่องสี รอยบิ่น แตก ที่ผิว และตำแหน่งเข้ามุมต่างๆ ที่มีรอยจากการตัด เจาะต่างๆ โดยสามารถโป๊ว แต่งสี ได้
    • ระบบล้อของลิ้นชัก ควรเลื่อนได้ลื่น ไม่สะดุด ไม่มีเสียงดัง
  2. ชุดอ่างล้างจาน
    • ลองขังน้ำในอ่างล้างจาน สัก 15 นาที ดูว่ามีน้ำซึมออกที่สะดืออ่างได้ไหม
    • เปิดน้ำให้ล้นที่ช่อง over flow ของอ่างล้างจาน โดยสังเกตว่าน้ำไหลทัน ปริมาณน้ำจากก๊อกน้ำไหม และสังเกตน้ำที่ออกจาก over flow ว่ามีการรั่วไหม
    • ปล่อยน้ำในอ่างล้างจาน ดูน้ำรั่วใต้อ่างล้างจาน โดยพบบ่อยๆ ตำแหน่งท่อมักมีน้ำซึมย้อนออกมาจากท่อน้ำทิ้งที่ฝังไว้ที่ผนัง โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจาก ยาแนวซิลิโคนรอบๆ รอยต่อไม่ดีครับ
    • ตรวจสอบการติดตั้ง P-trap ใต้อ่างล้างจาน ตามรอยต่อต่างๆ ว่าแน่นดีไหม และมีน้ำซึมออกมาไหม
  3. ก๊อกน้ำ
    • ดูความแรงของน้ำ ถ้าก๊อกน้ำรุ่นที่มีกรองที่ปลายก๊อก อาจมีเศษวัสดุอุดตัน ทำให้น้ำไหลเบาได้ โดยสามารถถอดมาทำความสะอาดได้
    • การติดตั้งก๊อกน้ำ ให้แน่นตึงมือ แต่ไม่แน่นจนสุด เพราะน๊อตที่ใช้ขันล็อคก๊อกน้ำใต้อ่างล้างจาน ส่วนใหญ่จะเป็นพลาสติก ถ้าขันแน่นไปจะแตกได้
  4. ควรมี stop valve ที่ท่อน้ำดีทุกจุด เพื่อการซ่อมแซม หรือเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ชำรุดในอนาคต
  5. เครื่องดูดควัน
    • ลองเปิดดูว่าใช้งานได้ไหม ลมแรงไหม ทำได้โดยน้ำกระดาษแผ่นเล็กๆ มาวางที่ตะแกรงแผงดูดควัน โดยจะต้องดูดกระดาษให้ติดอยู่ได้
    • เครื่องดูดควัน แบบระบายควันออกข้างนอกบ้าน ให้ตรวจสอบการต่อท่อว่าเรียบร้อยไหม โดยเปิดที่ฝาตู้ด้านบนเครื่องดูดควัน และควรจะไล่ดูว่าเดินท่อระบายควันไปออกที่บริเวณไหนของบ้าน
    • เครื่องดูดควันแบบไม่มีท่อดูดควันออกด้านนอก หรือ Recirculation type คือแบบที่ดูดอากาศผ่านแผ่นกรองคาร์บอน (carbon filter) แล้วปล่อยอากาศออกมาวนอยู่ในห้อง ให้ตรวจดูว่าติดตั้งแผ่นกรอง (carbon filter) เรียบร้อยไหม ทั้งนี้ carbon filter มีหน้าที่ในการดูดซับกลิ่น ควัน และฟอกอากาศ ก่อนปล่อยกลับออกไปในห้อง แผ่นกรอง มีอายุการใช้งาน จำเป็นต้องเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ

 10 จุดต้องตรวจ ก่อนหมดประกันบ้าน 1 ปี

ตรวจรับคอนโด ด้วยตัวเอง 

5 ระบบ ต้องตรวจก่อนโอนบ้าน

3 วิธี แก้ไขพื้นจอดรถทรุดตัว

สนใจบริการตรวจบ้านก่อนหมดประกัน 
Facebook : Homecheckup
LineID     : @homecheckup
IG             : homecheckup.ig
Tel            : 085-481-3536 (คุณกานต์)

Message us
error: Content is protected !!