กระเบื้องมุงหลังคามีกี่แบบ แบบไหนเหมาะกับบ้านของเรา?

กระเบื้องมุงหลังคามีกี่แบบ แบบไหนเหมาะกับบ้านของเรา ??

หลังคา (Roof) ทำหน้าที่อะไร

หลังคาเป็นส่วนประกอบด้านบนของบ้านหรืออาคาร ทำหน้าที่กันแดด กันฝน มีรูปทรง สีสันให้เลือกใช้งานหลากหลาย การเลือกหลังคาสำหรับที่พักอาศัยหรืองานโครงการต่างๆ จะพิจารณาจากวัสดุมุงหลังคา ซึ่งก็คือ "กระเบื้องหลังคา"

การเลือกกระเบื้องมุงหลังคา 

การเลือกกระเบื้องมุงหลังคา นอกจากจะให้ความสำคัญของดีไซน์และรูปลักษณ์ความสวยงาม ยังต้องคำนึงถึงความทนทานและความแข็งแรง รวมถึงการเลือกวัสดุที่ช่วยป้องกันความร้อนได้ดี เพราะในช่วงอากาศร้อนอบอ้าวหรือฝนตกหนัก คุณจะไม่สามารถพักผ่อนในบ้านได้อย่างสบายแน่นอนครับ

ทางเรามีเคล็ดลับดีๆ มาฝากกันอีกเช่นเคย โดยเราจะพาทุกท่าน ไปรู้จักกับ "กระเบื้องมุงหลังคา 8 แบบ" ว่าแต่ละแบบใช้งานแตกต่างกันอย่างไร มีข้อดี-ข้อเสียมากแค่ไหน และข้อควรระวังที่ควรรู้  รวมถึงการเลือกตกแต่งให้ถูกกับบ้านแต่ละสไตล์ ถ้าใครวางแผนกำลังจะสร้างบ้าน เรื่องหลังคาคือเรื่องที่คุณควรรู้มากที่สุด ไปชมกันครับ......

1. กระเบื้องหลังคาคอนกรีต

ลักษณะแผ่นกระเบื้องหลังคาคอนกรีตที่พบเห็นกันทั่วไปจะเป็นกระเบื้องรูปลอน เนื้อวัสดุที่มีความแข็งแรงทนทาน มีปัญหารั่วซึมน้อย แต่หลังคาคอนกรีตมีน้ำหนักค่อนข้างมาก จำเป็นต้องใช้โครงสร้างหลังคาที่แข็งแรง ปัจจุบันถูกพัฒนาให้มีหลากหลายแบบ เช่น กระเบื้องแผ่นเรียบสี่เหลี่ยม กระเบื้องแผ่นเรียบรูปทรงหางว่าว หรือข้าวหลามตัดแบบไทย ๆ กระเบื้องหลังคาคอนกรีตเหมาะกับบ้านแบบไทย เช่น บ้านสไตล์คอนเทมโพรารี หรือบ้านสไตล์ไทยยุกต์ เป็นต้น

ข้อดี

  • ความแข็งแกร่ง ทนทานต่อแดดและฝน ระบายน้ำฝนได้ดี
  • มีปัญหารั่วซึมน้อย เพราะมีความหนาแน่นสูงมาก
  • มีให้เลือกหลากหลายสไตล์ และดูทันสมัย
  • สามารถทำความสะอาดหรือทาสีกระเบื้องหลังคาทับได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนกระเบื้องใหม่

ข้อเสีย

  • กระเบื้องคอนกรีตเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักค่อนข้างมาก จึงต้องเตรียมโครงสร้างหลังคาให้แข็งแรง
  • คอนกรีตเป็นวัสดุที่สะสมความร้อน จึงควรติดตั้งฉนวนกันร้อนเพิ่มเติม
  • ผิวสัมผัสของกระเบื้องคอนกรีตที่ค่อนข้างหยาบ อาจทำให้ฝุ่นผงละเอียดเกาะติดได้ง่าย

2. กระเบื้องหลังคาไฟเบอร์ซีเมนต์

หลังคาที่ผลิตจากไฟเบอร์ซีเมนต์หรือคอนกรีตที่มีความทนทาน สามารถเก็บความร้อนได้ดี ดูแลรักษาง่าย เหมาะแก่การมุงหลังคาที่มีโครงสร้างทรงปั้นหยาหรือหน้าจั่ว รูปทรงบ้านตามต่างจังหวัดจะเน้นการมุงหลังคาเป็นกระเบื้องลอนคู่มากกว่าวัสดุชนิดอื่น ลักษณะของหลังคากระเบื้องลอนคู่ ทั่วไปจะมี 2 ลอน ตามลอนที่มีอยู่บนผิวกระเบื้องเป็นตัวช่วยให้น้ำระบายจากหลังคาลงสู่พื้นได้อย่างรวดเร็ว ด้วยท้องลอนที่ลึกและกว้าง ติดตั้งไม่ยากแต่ค่าติดตั้งก็แพงกว่า เพราะต้องใช้วัสดุติดตั้งเยอะพอสมควร รวมถึงน้ำหนักที่มากโครงสร้างรองรับฐานต้องแข็งแรง

ข้อดี

  • วัสดุแข็งแรงทนทาน อายุการใช้งานยาวนาน
  • ซ่อมแซมบำรุงรักษาง่าย เปลี่ยนแค่จุดที่ชำรุด
  • กันความร้อนได้ดีกว่าเพราะกระเบื้องจะเป็นตัวเก็บความร้อนเอาไว้
  • เสียงเบากว่าเวลาฝนตกกระทบหลังคา

ข้อเสีย

  • ใช้เวลาติดตั้งนานกว่าเพราะต้องติดตั้งทีละแผ่น
  • อัตราการรั่วซึมสูงกว่าเนื่องจากการติดตั้งเป็นแบบปูซ้อนทับกัน หากติดตั้งไม่ดีอาจเกิดการรั่วซึมได้
  • น้ำหนักมากกว่า ต้องเพิ่มต้นทุนในการทำโครงสร้างให้แข็งแรงเพื่อรองรับกระเบื้อง

3. กระเบื้องหลังคาดินเผา

กระเบื้องดินเผามีสีสันอ่อนเข้มขึ้นอยู่กับกรรมวิธีการเผา โดยจะมีลักษณะเป็นลอนโค้งสูง มีความแข็งแกร่งในระดับหนึ่ง เหมาะกับบ้านสไตล์ย้อนยุค เช่น เรือนไทย วัด โบสถ์ เป็นต้น กระเบื้องดินเผานั้นมีน้ำหนักที่เบากว่ากระเบื้องคอนกรีต และมีการนำพาความร้อนต่ำ ในการเลือกกระเบื้องดินเผามาใช้ในการมุงหลังคา ควรให้ความสำคัญคือการคำนวณจำนวนกระเบื้องดินเผา เพราะกระเบื้องดินเผามีหนึ่งลอนคว่ำและหนึ่งท้องลอนต่อกระเบื้องหนึ่งแผ่น ขนาดของกระเบื้องดินเผามีตั้งแต่ 4”x4”, 4”x8”, 6”x6”, 8”x8”, ขนาดหกเหลี่ยม 4นิ้ว ขนาดหกเหลี่ยม 6 นิ้ว มีทั้งผิวธรรมชาติและผิวเคลือบเงาสวยงาม

ข้อดี

  • มีความเป็นเอกลักษณ์ในด้านของสีและเทคเจอร์ที่ดูธรรมชาติ
  • มีความเป็น Local จึงเหมาะกับการนำไปมุงหลังคา เรือนไทย วัด โบสถ์
  • มีคุณสมบัติเรื่องการระบายความร้อนใต้หลังคาได้ดี การนำพาความร้อนต่ำ
  • น้ำหนักที่เบากว่ากระเบื้องคอนกรีต
  •  ทนสารเคมีต่างๆได้เป็นอย่างดี

ข้อเสีย

  • คำนวณจำนวนกระเบื้องดินเผา โดยเฉพาะหากต้องมุงหลังคาทรงจั่ว
  • ความแข็งแรงไม่สูงมากนักหากเทียบกับวัสดุมุงหลังคาประเภทอื่น
  • หากโดนน้ำหรือความชื้นมากเกินไป ก็มีโอกาสที่กระเบื้องจะมีการหลุดล่อนได้ง่าย

4. หลังคาชิงเกิ้ลรูฟ

ในสมัยก่อนหลังคาชิงเกิ้ลทำขึ้นจากวัสดุธรรมชาติ เช่นไม้ มันจึงไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไหร่ รั่วง่าย และไม่ทนไฟ ปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนหลังคาชิงเกิ้ลรูฟ ทำมาจากแผ่นไฟเบอร์ที่มีความแข็งแรงสูง เพื่อลดการฉีกขาด แล้วหุ้มด้วยยางมะตอยทั้ง 2 ด้าน บริเวณผิวมีกรวดสีต่างๆ ตกแต่งให้สวยงาม ทำให้แผ่นกระเบื้องดูมีมิติสวยงาม และมีอายุการใช้งานสูงถึง 40 ปี เป็นวัสดุที่ได้รับความนิยมมากในบ้านต่างประเทศ

ข้อดี

  • หากมีหลังคาบางส่วนที่ได้รับความเสียหาย สามารถเปลี่ยนหลังคาแผ่นที่ชำรุดเป็นแผ่นใหม่ได้ง่าย
  • บางยี่ห้อสามารถดัดโค้งงอได้ตามรูปทรงหลังคา มีความยืดหยุ่นสูง
  • ดีไซน์สวยและดูทันสมัย คล้ายกับบ้านสไตล์ยุโรป
  • วัสดุของหลังคาชิงเกิ้ลรูฟไม่ก่อให้เกิดสนิม
  • ติดตั้งง่าย เพราะมีน้ำหนักเบากว่า และมีขนาดเล็ก
  • มีหลากหลายสี และมีให้เลือกหลายรูปแบบ

ข้อควรระวัง

  • บางยี่ห้ออาจจะไม่ช่วยในเรื่องของการลดความร้อนมากนัก
  • มีโอกาสที่จะเกิดเชื้อราได้ โดยเฉพาะในส่วนที่ชื้นและไม่ค่อยโดนแดด
  • หากติดตั้งไม่ดี มีโอกาสที่จะหลุดไปตามลม เมื่อมีลมแรงๆ
  • บางยี่ห้ออาจมีความทนทานน้อยกว่าเมื่อเทียบกับหลังคาแบบอื่นๆ

5. หลังคาเหล็กเมทัลชีท

หลังคาเหล็กแผ่นบางหรือแผ่นเหล็กรีดเคลือบด้วยอลูซิงค์หรือสังกะสี สามารถรีดขึ้นรูปได้อิสระกว่าแบบกระเบื้อง เคลือบด้วยสารป้องกันสนิมนำมาขึ้นรูปลอน หลังคาเมทัลชีทสามารถนำมาใช้เป็นแผ่นหลังคาหรือกั้นเป็นผนังได้ ซึ่งหลังคาเมทัลชีทมีโครงเหล็กเป็นตัวยึด แต่งานกั้นผนังส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบผนังของโรงงาน ในส่วนของงานบ้านนั้นมักใช้เป็นงานหลังคา โดยรูปแบบหลังคาที่ใช้แผ่นเหล็กเมทัลชีท ที่นิยมใช้กันจะเป็นหลังคาเมทัลชีททรงเพิงหมาแหงน เหมาะกับสไตล์โมเดิร์นที่ต้องการสีสันและรูปทรงที่แปลกใหม่ ติดตั้งง่ายและรวดเร็วกว่าแบบกระเบื้อง น้ำหนักเบารองรับกับโครงสร้างเกือบทุกชนิด แต่ในเรื่องความร้อนเมทัลชีทจะมีความร้อนมากกว่าหากไม่ได้บุฉนวนป้องกันความร้อนเพิ่มเติม นั่นก็หมายความว่าค่าใช้จ่ายที่ต้องมีเพิ่มอีก

ข้อดี

  • มีน้ำหนักเบา
  • ใช้เวลาติดตั้งเร็ว
  • มีโอกาสรั่วซึมน้อยกว่า
  • มุงหลังคาได้หลายแบบและมีองศาลาดเอียงที่น้อย

ข้อเสีย

  • กันความร้อนไม่ดีหากไม่มีฉนวนกันความร้อน
  • เสียงดังกว่าในช่วงฝนตกกระทบหลังคา
  • อายุการใช้งานจะขึ้นอยู่ กับสภาพสิ่งแวดล้อม เช่นถ้าอยู่แถวบริเวณริมทะเล ก็จะผุกร่อนได้ง่ายกว่า

6. กระเบื้องหลังคาเซรามิก

กระเบื้องหลังคาเซรามิก เป็นอีกหนึ่งวัสดุที่ได้รับความนิยมมาก โดดเด่นด้วยเนื้อผิวเรียบเนียน ถูกเคลือบให้มีความมันเงาช่วยในการชลอการซีดจาง และช่วยให้น้ำฝนชะล้างคราบสกปรกได้ง่าย ป้องกันความร้อนได้สูงกว่ากระเบื้องชนิดอื่น เหมาะแก่การมุงหลังคาบ้านทรงปั้นหยา และบ้านสไตล์ร่วมสมัยทั่วไป

ข้อดี

  • มีลวดลายและมีสันที่สวยงามที่ดึงดูดสายตา
  • มีความแข็งแรงทนทาน
  • ราคาไม่แพงและหาซื้อได้ง่าย

ข้อเสีย

  • แตกหักได้ง่าย
  • รื้อกระเบื้องออกแล้วไม่สามารถนำมาปูใหม่ได้

7. กระเบื้องโปร่งแสง 

กระเบื้องโปร่งแสง ผลิตมาจากใยแก้วและโพลีเอสเตอร์เรซิน เคลือบด้วยแผ่นฟิล์มพิเศษที่มีคุณสมบัติป้องกันรังสีจากแสงแดด แต่ในขณะเดียวกันก็โปร่งแสงช่วยให้พื้นที่ใช้งานสว่างไม่มืดทึบ กระเบื้องแบบโปร่งแสง มีน้ำหนักเบา หนาเพียง 1.2 มม. เท่านั้น เหมาะแก่การติดตั้งในโรงจอดรถ ชานนอกบ้าน และระเบียง เป็นต้น

ข้อดี

  • มีลวดลายและมีสันที่สวยงามที่ดึงดูดสายตา
  • เคลือบสารกัน UV
  • ราคาไม่แพงและหาซื้อได้ง่าย

ข้อเสีย

  • ใต้ชายคายังร้อนเพราะแสงส่องผ่านได้
  • ฝนตกเสียงดังป๊อกๆ แป๊กๆ

8. กระเบื้องว่าว

ก่อนหน้านี้กระเบื้องว่าวผลิตขึ้นจากดินเผา ซึ่งเป็นวัสดุที่อมน้ำ อมความชื้น และมีรูปร่างบิดเบี้ยว ภายหลังจึงมีการปรับปรุงวิธีการผลิต โดยใช้ซีเมนต์และเครื่องจักรอัดไฮโดรลิคแรงสูง ตามด้วยการเคลือบมัน เพื่อป้องกันความชื้นแทรกซึมลงไปในกระเบื้อง แต่ก็ยังมีข้อเสียตรงที่รอยต่อระหว่างแผ่นอาจก่อเกิดปัญหาน้ำไหลย้อนได้ง่ายกว่ากระเบื้องชนิดอื่น ซึ่งควรตรวจสอบมาตราฐานให้ดีก่อนติดตั้ง อย่างไรก็ตาม กระเบื้องว่าวก็ยังเป็นอีกหนึ่งรูปแบบหลังคาที่เหมาะกับบ้านสไตล์โคโลเนียลเป็นอย่างยิ่งค่ะ

ข้อดี

  • ทนทานความร้อนได้ดี
  • ทนการกัดเซาะของฝนกรด
  • ราคาไม่แพงและหาซื้อได้ง่าย

ข้อเสีย

  • รอยต่อระหว่างแผ่นอาจก่อเกิดปัญหาน้ำไหลย้อนได้ง่ายกว่ากระเบื้องชนิดอื่น

สรุป กระเบื้องหลังคาแต่ละแบบ มีข้อดี และ ข้อเสีย แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับการออกแบบ และการเลือกใช้งาน สามารถให้คุณได้ลองเลือกให้เข้ากับรูปแบบบ้านและการใช้งานของคุณ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบ้านใหม่หรือการต่อเติมส่วนต่าง ๆ ของบ้าน หวังว่าจะทำให้คุณตัดสินใจง่ายขึ้นว่าจะเลือกกระเบื้องมุงหลังคาชนิดใดดี

Message us
error: Content is protected !!